ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพฤษภาคม 2566 ปรับลดลงจากภาคที่มิใช่การผลิตเป็นสำคัญ ตามการเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่สิ้นสุดลง ขณะที่ดัชนีฯ ของภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นที่แย่ลงจากเดือนก่อน
ในอีก3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลง แต่ดัชนีฯ โดยรวมยังอยู่เหนือระดับ 50 สะท้อนว่าธุรกิจส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
ความไม่แน่นอนจัดตั้งรัฐบาล ฉุดความเชื่อมั่นการลงทุน
แนะ 6 หุ้นเด่นเดือนมิ.ย. รับความไม่แน่นอนทางการเมือง-ดอกเบี้ยเฟด คำพูดจาก สล็อต777
ในเดือนพฤษภาคม 2566 ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 49.7 จาก 50.1 ในเดือนก่อน ตามการลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบนำโดยความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ การผลิต และการจ้างงาน โดยความเชื่อมั่นในภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงตามกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร จากการเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐที่สิ้นสุดลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการ การบริการ และคำสั่งซื้อปรับลดลงมาก
แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในภาคการผลิตปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย นำโดยกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกด้าน อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในด้านการส่งออกของกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ ยกเว้นกลุ่มผลิตยานยนต์ที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดการผลิตและการส่งมอบรถยนต์ชะลอลง
ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับลดลงจาก56.1 มาอยู่ที่ 54.7 ตามการลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ และจากทั้งภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต โดยความเชื่อมั่นของภาคการผลิตปรับลดลงมากจากกลุ่มผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากการผลิตที่เร่งไปมากในเดือนก่อน
ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงในหลายหมวดธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงกลุ่มโลจิสติกส์ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ โดยรวมและเกือบทุกธุรกิจยังอยู่เหนือระดับ 50 ได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบัน ยกเว้นกลุ่มก่อสร้างที่ความเชื่อมั่นปรับลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 อีกครั้ง จากด้านต้นทุนเป็น
สำคัญดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่นๆ คือความเชื่อมั่นด้านการส่งออกของภาคการผลิตยังต่ำกว่าระดับ 50 สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องของธุรกิจโดยรวมปรับลดลงต่อเนื่องสะท้อนว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเผชิญกับภาวะสภาพคล่องตึงตัว
แม้ว่าปัญหาต้นทุนการผลิตสูงมีทิศทางผ่อนคลายลง แต่ยังคงเป็นอุปสรรคอันดับแรกในการดำเนินธุรกิจต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 ขณะที่การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก และความต้องการจากตลาดทั้งในและต่างประเทศต่ำ เป็นข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการกังวลมากขึ้นในเดือนนี้สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อน
ทั้งนี้ ธปท. เริ่มส่งแบบสอบถามในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนที่สำรวจ และรวบรวมประมวลผลในวันทำการแรกของเดือนถัดไป บริษัทที่สำรวจครอบคลุมในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ ทั้งขนาดย่อม ขนาดกลาง และ ขนาดใหญ่ (ทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 50 ล้านบาท 50-200 ล้านบาท และมากกว่า 200 ล้านบาท ตามลำดับ) อัตราการตอบกลับ (response rate) ในภาพรวมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ของแบบสอบถามที่ส่งออก หรือเดือนละประมาณ 500 บริษัท
ดัชนี BSI จัดทำเป็น diffusion index เช่นเดียวกันกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ในต่างประเทศ โดยดัชนี BSI ของ ธปท. ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่ การผลิต คำสั่งซื้อ การลงทุน ต้นทุนการผลิต ผลประกอบการ และการจ้างงาน โดยให้น้ำหนักเท่ากันทุกองค์ประกอบ
วิธีการอ่านค่าเป็นดังนี้ ดัชนี = 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัวจากเดือนก่อน, ดัชนี > 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้นกว่าเดือนก่อน และดัชนี < 50 หมายถึง ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นทางธุรกิจแย่ลงกว่าเดือนก่อน